เมื่อเอ่ยถึง “ กระดาษ ” คงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะคนส่วนใหญ่มักใช้สิ่งนี้อยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ และเชื่อว่าหากมีใครสักคนถูกถามว่า “กระดาษคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร และมีข้อดีอะไรบ้าง” คำตอบที่ได้กลับมาคงมีหลากหลายรูปแบบ หรือบางคนอาจหาคำตอบไม่ได้เพราะประโยชน์ของมันช่างล้นเหลือเสียเหลือเกิน
ซึ่งกระดาษมีด้วยกันหลากหลายประเภท โดยแต่ละประเภทมีความหนาบาง คุณสมบัติ ขนาดที่แตกต่างกันออกไป ด้วยความแตกต่างนี้ทำให้กระดาษกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา เช่น งานพิมพ์ การออกแบบ การบรรจุผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นต้น กระดาษถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ดังนั้นเมื่อต้องการใช้งานจึงต้องคำนึงถึงเรื่องขนาดและชนิดกระดาษในการพิมพ์ หรือแม้กระทั่งขั้นตอนการบรรจุสิ่งของ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าการเลือกกระดาษเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นเราจึงหยิบยกประเภทของกระดาษมาแบ่งปันเพื่อน ๆ โดยแบ่งประเภทของกระดาษได้ดังนี้…
มาทำความรู้จักกับ 12 ประเภทกระดาษกันเถอะ
1.กระดาษปรู๊ฟ (Newsprint)
เป็นกระดาษรีไซเคิล เยื่อบด ราคาถูก มีความหนาอยู่ที่ 48 แกรม ลักษณะของกระดาษค่อนข้างบาง เนื้อไม่แน่น มีสีออกน้ำตาลอ่อน ๆ ข้อเสียคือไม่มีความทนทานและฉีกขาดง่าย เหมาะสำหรับเอกสารที่ไม่ได้เน้นคุณภาพระดับสูง เช่น หนังสือพิมพ์รายวันทั่วไป
2.กระดาษแบงค์ (Bank Paper)
เป็นกระดาษบางไม่เคลือบผิวเหมือนกระดาษปอนด์ โดยมีความหนาอยู่ที่ 55 แกรม มีสีให้เลือกหลายสี
เหมาะสำหรับงานพิมพ์แบบฟอร์ม หรือบิลต่าง ๆ เช่น ใบฝาก-ถอนของธนาคาร
3.กระดาษถนอมสายตา (Green Read)
เป็นกระดาษที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ควบคุมค่าเป็นพิเศษ เป็นกระดาษชนิดไม่เคลือบผิว สีของกระดาษไม่ขาว มีความหนาอยู่ที่ 65-75 แกรมขึ้นไป ลักษณะของกระดาษชนิดนี้คือ มี Texture ความทึบแสง มีความฟู (Bulk) ซึ่งกระดาษประเภทนี้มักนำมาใช้แทนกระดาษปอนด์ เพราะมีน้ำหนักเบากว่า เหมาะสำหรับงานพิมพ์หนังสือ ตำราเรียน หรือไดอารี่ เป็นต้น
4.กระดาษปอนด์ (Bond Paper)
เป็นกระดาษที่มีคุณภาพสูง เยื่อกระดาษทำจากเศษผ้าผสมด้วยสารเคมี Sulfite โดยทำการฟอกให้ขาวเป็นพิเศษและกระดาษชนิดนี้มีความหนา 70-100 แกรม ลักษณะเป็นกระดาษสีขาว เหมาะสำหรับงานพิมพ์ที่ต้องความสวยงามปานกลาง เช่น ประกาศนียบัตรหรือกระดาษจดหมาย
5.กระดาษอาร์ต (Art Paper)
เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อเคมี มีการเคลือบผิวให้เรียบทั้งแบบ อาร์ตมัน อาร์ตด้าน สามารถเลือกเคลือบ 1 หน้า หรือ 2 หน้า ก็ได้ราคาค่อนข้างสูง ลักษณะกระดาษเนื้อแน่น เรียบ สีขาว มีความหนาอยู่ที่ 85 – 190 แกรมขึ้นไป เหมาะสำหรับงานพิมพ์สี่สี เน้นความสวยงาม เช่น โบร์ชัวร์ แผ่นพับ หรือแคตตาล็อกเป็นต้น
6.กระดาษน้ำตาล (brown paper)
เป็นกระดาษสีน้ำตาลอ่อน ส่วนมากผลิตจากกระดาษ recycle มีความหนาหลายขนาดให้เลือกใช้ ได้แก่ 90, 110, 125, 185, 230, 350, 400 แกรม กระดาษชนิดนี้ใช้สำหรับห่อของ ปกบิลใบเสร็จ หรืองานพิมพ์ที่ต้องการความแตกต่างเป็นพิเศษ
7.กระดาษฟอกขาวหรือปอนด์ขาว (Woodfree Paper)
เป็นกระดาษที่เรานิยมใช้ในชีวิตประจำวัน กระดาษฟอกขาวทำมาจากเยื่อกระดาษเคมี คุณภาพของกระดาษที่ผ่านการฟอกสีและความหนาแน่นสูง การดูดซึมค่อนข้างน้อย เหมาะสำหรับนำไปผลิตงานที่ใช้เขียนหรือพิมพ์ เช่น สมุด หนังสือทั่วไปหรือนิตยสาร
8.กระดาษการ์ด (Card Board)
เป็นกระดาษที่ประกอบด้วยชั้นของกระดาษหลายชั้น มีความคงทนแข็งแรงมากกว่ากระดาษปอนด์หรือกระดาษอาร์ต โดยกระดาษการ์ดบางชนิดจะมีการเคลือบผิวเพื่อเพิ่มความมัน เหมาะกับงานพิมพ์ที่ต้องการความคงทนแข็งแรง และอายุการใช้งานนาน เช่น เมนูอาหาร สแตนด์โชว์ ปกหนังสือ หรือบรรจุภัณฑ์
9.กระดาษแข็ง (Hard board)
เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อไม้บดและเยื่อกระดาษเก่า มีหลายชั้น แข็ง และหนา ลักษณะของกระดาษคือ เนื้อกระดาษจะมีผิวขรุขระ สีคล้ำ มีคำเรียกกระดาษชนิดนี้อีกชื่อว่า กระดาษจั่วปัง เหมาะสำหรับงานปกหนังสือฐานปฏิทินตั้งโต๊ะ บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ
10.กระดาษแฟนซี (Fancy Paper)
เป็นกระดาษที่มีรูปร่างลักษณะพิเศษต่าง ๆ อยู่ในตัว เช่น มีกลิ่น มีพื้นผิว (texture) หยาบ มีลายในตัว ซึ่งกระดาษชนิดนี้จะมีความหลากหลายและราคาแพงกว่าปกติ หรืออาจเป็นกระดาษผิวเรียบปกติ แต่ก็มีความละเอียด ความทนทานเป็นพิเศษ ตัวกระดาษมีทั้งแบบบางและหนา ประโยชน์สำหรับกระดาษชนิดนี้สามารถนำไปใช้แทนกระดาษที่ใช้อยู่ทั่วไป ตั้งแต่นามบัตร หัวจดหมาย ไปจนถึงกล่องบรรจุภัณฑ์ได้
11.กระดาษกล่อง (Box Paper)
เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อบด และมักนำเยื่อจากกระดาษใช้แล้วมาผสม ลักษณะของกระดาษมีสีคล้ำไปทางเทาหรือน้ำตาล ผิวด้านหนึ่งมักจะประกบด้วยชั้นของกระดาษขาวซึ่งอาจมีผิวเคลือบมันหรือไม่ก็ได้เพื่อความสวยงามและพิมพ์ภาพลงไปได้ หากเป็นกระดาษไม่เคลือบ จะเรียก กระดาษกล่องขาว หากเป็นกระดาษเคลือบผิวมัน จะเรียก “กระดาษกล่องแป้ง” น้ำหนักกระดาษกล่องอยู่ระหว่าง 180 – 600 แกรม ใช้สำหรับทำสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ เช่น กล่องหรือป้ายแข็งเป็นต้น
12.กระดาษอื่น ๆ
นอกจากกระดาษชนิดต่าง ๆ ที่เอ่ยมาข้างต้นแล้ว ยังมีกระดาษชนิดอื่น ๆ อีก ยกตัวอย่างเช่น กระดาษเหนียว กระดาษกันปลอม (Security Paper) กระดาษเอ็นซีอาร์ (Carbonless Paper) กระดาษแอร์เมล์ (air mail paper) กระดาษสังเคราะห์ กระดาษสติ๊กเกอร์ กระดาษบังสีรถยนต์ กระดาษอาร์ตอัดลาย ฯลฯ โดยกระดาษแต่ละชนิดเราสามารถแยกยิบย่อยได้อีกเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นความหนา ความหนัก ความฟู ความสว่าง โทนสี ความทึบแสง ความทนทาน ความเรียบ หรือแม้กระทั่งลักษณะพื้นผิวของกระดาษ รวมถึงขนาดของกระดาษก็มีความสำคัญต่อการใช้งาน
สรุป
ในปัจจุบันการผลิต กระดาษ จะมีความหลากหลายเพื่อนำไปใช้ในแต่ละวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป นอกจากใช้เพื่อการขีดเขียนแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ทำบรรจุภัณฑ์อาหารเครื่องดื่ม บรรจุภัณฑ์อื่น ๆ วัสดุก่อสร้าง (ฝ้า ผนัง) ใช้ในการพิมพ์ ทำปกหนังสือ ทำเมนูอาหาร การออกแบบ Art Work หรือแม้กระทั่งใช้เป็นกระดาษสุขภัณฑ์ ซึ่งใครหลาย ๆ คนอาจมองว่ากระดาษเป็นวัสดุสิ้นเปลือง แต่เราสามารถต่อยอดกระดาษให้กลับมาใช้ได้อีกครั้งได้ เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์นำมาพับถุงกระดาษ กระดาษสำหรับเขียนแม้ใช้แล้วทั้งสองหน้า ก็สามารถนำไปพิมพ์อักษรเบรลล์สำหรับคนตาบอดได้ เมื่อหมดสภาพแล้วก็นำไปเข้าโรงงานแปรรูปเป็นสินค้าประเภทลังกระดาษได้อีกด้วย
จากที่กล่าวไปข้างต้น เพื่อน ๆ คงได้ทราบกันแล้วว่ากระดาษได้กลายเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญในยุคสมัยนี้ ไม่ว่าจะหันมองไปทางไหนก็สามารถพบเห็นได้ทุกที่ทุกเวลา แต่คงจะดีกว่ามากหากเราช่วยกันใช้กระดาษอย่างประหยัด ใช้กระดาษเท่าที่จำเป็น และคำนึงถึงผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนควบคู่ไปด้วย เพื่อให้การใช้งานเกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างความสมดุลให้กับโลกของเรา UFABET